ทฤษฎีความเฉื่อย
จำได้ว่าตอนที่เรียนม.ปลาย วิชาฟิสิกส์ ผมได้รู้จักกับ"ความเฉื่อย"ซึ่งเป็นคุณสมบัติของวัตถุทั้งหมด โดยวัตถุที่ไม่เคลื่อนที่ยังคงหยุดนิ่งจนกว่าจะมีแรงมากระทำต่อวัตถุนั้น วัตถุที่กำลังเคลื่อนที่จะยังคงเคลื่อนที่ต่อไปด้วยอัตราเร็วคงที่ และทิศทางเดิม จนกว่าจะมีแรงมากระทำเพื่อเปลี่ยนอัตราเร็วและทิศทางการเคลื่อนที่ อธิบายให้เห็นภาพคือเมื่อ รถยนต์จอดนิ่งไม่เคลื่อนที่ ความเฉื่อยของรถยนต์ต้องมากกว่าแรงที่กระทำต่อรถยนต์ เพื่อที่จะให้รถยนต์เคลื่อนที่ เมื่อรถยนต์กำลังเคลื่อนที่ จะต้องเพิ่มแรงกระทำกับรถยนต์ให้มากขึ้น เพื่อให้รถยนต์เคลื่อนที่เร็วมากขึ้น และเมื่อต้องการชะลออัตราเร็วของรถยนต์ แรงเบรกจะต้องมากกว่าความเฉื่อยของรถยนต์ (อ้างอิงจาก wikipedia.org) ทฤษฎีนี้มักผุดขึ้นมาทันที เมื่อผมกลับบ้าน กับภาพของคุณแม่นอนดูละครทีวี ภาพน้องสาวที่ออกไปจับกลุ่มกับเพื่อนๆแถวบ้าน เป็นภาพปกติที่ผมเห็นจนชินตาทุกวัน ทุกวัน รูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมือนมีใครบางคนป้อนโปรแกรมคำสั่งเอาไว้ และดูเหมือนทั้งสองคนพอใจกับรูปแบบชีวิต คุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ แต่ตัวผมรู้สึกได้ถึงความเฉื่อย ผมไม่ชอบดูทีวี ผมไม่ชอบสุงสิงกับใคร ผมชอบใช้เวลาที่มีในแต่ละวัน ทำกิจกรรมหลายๆอย่างให้สำเร็จ หลังเลิกงานผมรีบกลับบ้าน ขวนขวายหาความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หนังสือ อินเทอร์เน็ต เป็นแหล่งข้อมูลที่ผมอยู่กับมันแทบทุกวัน
มีคนเคยบอกว่า "หากคุณใช้ชีวิตเหมือนกับคนอื่นๆ บทลงเอยของชีวิตคุณก็คงคล้ายๆกันกับพวกเขา" ผมเห็นด้วยกับคำพูดนี้ และได้พยายามเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้ต่างออกไป มีคำถามมากมายจากคุณแม่และน้องสาว พวกเขาคงคิดว่าผมเป็นอะไร ไม่สบายรึเปล่า ผมถูกมองว่ามีโลกส่วนตัวสูง พูดน้อย เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ผมไม่ได้เห็นภาพของคุณแม่นอนดูละครทีวี ภาพน้องสาวที่ออกไปจับกลุ่มกับเพื่อนๆแถวบ้าน ผมไม่ได้เห็นนานแล้ว แต่ผมรู้เสมอว่าภาพนั้นยังเกิดขึ้นเป็นปกติ จากที่ได้พูดคุยกับทั้งสองผ่านโทรศัพท์ ความเฉื่อยถูกส่งผ่านมาตามสาย พลางเป็นสิ่งกระตุ้นตัวผมให้ยังคงดำเนินรูปแบบชีวิตที่ไม่เหมือนใครต่อไป ผมไม่ได้มีความคิดขุ่นเคืองกับรูปแบบชีวิตของทั้งสอง คุณแม่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน ท่านควรพักผ่อน น้องสาวหนักกับการเรียนมาทั้งวัน ควรได้ผ่อนคลาย แต่ไม่รู้ทำไม ผมถึงทำใจให้มีความสุขกับรูปแบบชีวิตแบบนี้ไม่ได้ ผมมีความสุขมากที่ได้ใช้เวลาในแต่ละวันอย่างคุ้มค่า หลากหลายกิจกรรมที่ผมสรรหามาพัฒนาตัวเอง น้องสาวผมมักถามผมเสมอว่า ทำไม? ......ผมเงียบ ไม่รู้จะอธิบายให้เธอเข้าใจว่าอย่างไร หวังว่าอีกไม่นานเมื่อเธอได้เข้ามาอ่านบทความนี้ เธอคงเข้าใจ
เซอร์ไอแซก นิวตัน
ผู้เสนอกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันข้อที่ 1 หรือที่เรียกว่า กฎของความเฉื่อย
(ขอบคุณภาพจาก www.mythland.org)
(ขอบคุณภาพจาก www.mythland.org)
Post a Comment: