วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

          หากพูดถึง "ตารางทำความสะอาด" หรืออาจเรียกให้คุ้นหูว่า "เวรทำความสะอาด"  เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยหรือเคยคุ้นกันมานานแล้ว  เวรทำความสะอาดมักถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันของกลุ่มคนในการใช้สถานที่ใดๆอันเป็นส่วนรวม  ครอบครัวของเราก็มีเวรทำความสะอาดบ้านซึ่งรับผิดชอบโดยสมาชิกในครอบครัว  ที่โรงเรียนก็มีเวรทำความสะอาดห้องเรียนซึ่งรับผิดชอบโดยนักเรียน  ที่ทำงานก็มีเวรทำความสะอาดซึ่งรับผิดชอบโดยพนักงาน(ใช่ครับแม้ในความเป็นจริงแล้วแม่บ้านต่างหากที่รับผิดชอบ  แต่หากเราต้องจัดแบ่งเวรล่ะ  พนักงานนั่นเองคือกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน)
          

         การจัดตารางเวรมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ  ทั้งจำนวนคน  จำนวนงาน  ความถนัด แต่รูปแบบที่นิยมกันนั้นมักยึดวันในสัปดาห์เป็นหลัก เช่น
-วันจันทร์           เวรทำความสะอาดคือ   อดุลย์
-วันอังคาร          เวรทำความสะอาดคือ   วรรณ
-วันพุธ              เวรทำความสะอาดคือ    ยศ  
-วันพฤหัสบดี      เวรทำความสะอาดคือ    หนึ่ง
-วันศุกร์             เวรทำความสะอาดคือ   โหน่ง
ดังตัวอย่าง  หากจำนวนคนมีน้อยกว่าจำนวนวันในสัปดาห์  คนหนึ่งอาจต้องทำเวรสองหรือสามวัน  แต่หากจำนวนคนมีมากกว่าจำนวนวันในสัปดาห์  วันหนึ่งอาจมีคนสองคนร่วมกันรับผิดชอบทำเวร  และหากจำนวนคนมีมากจริงๆ ก็สามารถแบ่งกลุ่มรับผิดชอบเวรในแต่ละวันซึ่งพบได้บ่อยในห้องเรียน  ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักที่ใช้ยึดก็คือ "วันในสัปดาห์"  อาจเป็น 5 วันคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์  หรือ 7 วันโดยรวมวันเสาร์และวันอาทิตย์เข้าไป  ดังนั้นในสัปดาห์หนึ่ง  คุณต้องทำเวรอย่างน้อยหนึ่งวันถูกต้องไหมครับ?  คุณชอบไหม?  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบการทำเวรทุกสัปดาห์  วันนี้ผมมีรูปแบบการจัดตารางเวรมานำเสนอ  ไม่ใช่รูปแบบที่วิเศษอะไรหรอกครับ  เพียงแต่เราต้องไม่ยึด "วันในสัปดาห์" เป็นหลักในการจัดตารางเวร  แต่ยึด "คน" เป็นหลักในการจัดตารางเวรแทน


          ตารางเวรที่ผมจะนำเสนอคุณผู้อ่านนี้เป็นตารางเวรผมและกลุ่มเพื่อนได้ใช้อยู่จริง
จากภาพ 





 มีสมาชิก 11 คน คือ เทพ อดุลย์ ยศ เคน พัน หนึ่ง อู๊ด วรรณ โหน่ง โชค และชัย  จัดรูปแบบโดยยึดคนเป็นหลัก  ช่องตัวเลขด้านหลังคือเลขวันที่ ในแต่ละเดือน  วันที่ 1-2 รับผิดชอบโดย เทพ  วันที่ 3-4 รับผิดชอบโดย อดุลย์  ไปจนถึงวันที่ 21-22 รับผิดชอบโดย ชัย
ข้อดีของตารางเวรรูปแบบนี้ คือ
-แต่ละคนไม่ต้องทำเวรทุกสัปดาห์
-ทำเวร 2 วันติดกันช่วยเราฝึกในการวางแผนงานที่จะทำในวันนี้และต่อเนื่องไปยังอีกวัน(ขนาดนั้นเลย ฮ่าๆ)
-หลังจากเราทำเวรไปแล้ว 2 วัน  เราก็แทบไม่ต้องกังวลเรื่องนี้อีกนาน(จะเห็นว่าจากวันที่ 1-2 ที่ เทพ ทำเวรไปแล้ว  เทพจะกลับมาทำเวรอีกครั้งในวันที่ 23-24 ห่างกันถึง 3 สัปดาห์!)
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้แล้วว่า  ตารางรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร  เพียงแต่เราไม่ได้ยึดวันในสัปดาห์เป็นหลักในการจัดเท่านั้นเอง  ที่นี่เราจัดเวรให้แต่ละคนทำ 2 วันติดกันนั้นกำลังดีกับจำนวนสมาชิกที่มีอยู่  ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านสามารถนำรูปแบบตารางเวรนี้ไปปรับใช้ได้  แม้มีจำนวนคน จำนวนงานหรือจำนวนวันที่ต่างจากนี้ก็ตาม  อนึ่ง หากคุณพบข้อเสียหรือมีข้อแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบตารางเวรที่ผมนำเสนอ  เชิญแสดงความคิดเห็นได้เลยครับ


          "เวรสำหรับคนขี้เกียจ" คือชื่อของบทความนี้  (หากอ่านเพียงแค่ชื่อบทความ เชื่อว่าคุณคงตีความไปเป็นอย่างอื่นแน่ๆ) ซึ่งผมว่าเข้ากับบทความและเห็นภาพชัดเจน  หากเรามีตารางเวรที่เราไม่ต้องทำทุกสัปดาห์ผมว่ามันก็ดีอยู่นะ  และผมไม่ได้หมายความว่าจัดตารางเวรแบบนี้แล้วคุณจะเป็นคนขี้เกียจนะครับ  เพราะหากคุณทำเวร  คุณก็ไม่ใช่คนขี้เกียจแล้วล่ะ

Post a Comment:

Designed By Blogger Templates | Templatelib & Distributed By Blogspot Templates