วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

                  ผมและเพื่อนๆต่างมีแนวทางการทำงาน  การให้บริการ  แตกต่างกันไป  บ้างเลือกที่จะให้บริการผู้โดยสารทีละราย  ไม่รับงานซ้อน  บ้างเลือกที่จะรับงานซ้อน  หากมีการวางแผนใช้เวลาอย่างลงตัวก็ไม่มีปัญหา  แต่บางครั้งก็มีเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเรา  ก็ต้องอาศัยเพื่อนฝูงช่วยไปบริการผู้โดยสารต่อให้  บางทีผู้โดยสารก็สงสัยว่าตอนที่มารับหน้าเคาน์เตอร์เป็นอีกคนแต่ตอนส่งขึ้นเครื่องก็เป็นอีกคน  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอครับ
                  รถวีลแชร์เป็นเครื่องมือหากินของพวกเรา  เรากับรถจึงร่วมเดินทางไปด้วยกันเสมอ  ไม่แปลกหรอกครับที่จะเห็นพวกเราเคลื่อนที่ไปพร้อมกับรถเข็นด้วยความรวดเร็ว  เรียกว่าเร็วกว่าวิ่งด้วยสองเท้าอีก  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้บริการผู้โดยสารได้หลายเที่ยว  ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น  ด้วยความที่ชีวิตผูกพันกับรถวีลแชร์มากนั่นเองจึงเป็นที่มาของชื่อของบทความนี้  อนึ่ง "ชีวิตติดล้อ" นั้นผมยังได้แรงบันดาลใจมาจากผู้โดยสารที่มีชีวิตติดล้อจริงๆ  คือต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ในการใช้ชีวิตประจำวัน  หลายครั้งเมื่อเราเคลื่อนย้ายตัวผู้โดยสารลงรถเข็นวีลแชร์ส่วนตัวแล้ว  ผู้โดยสารก็ต้องการที่จะช่วยเหลือตัวเองหมุนล้อเคลื่อนรถไปเอง  ทำให้ผมได้รู้สึกถึงพลังในการต่อสู้ชีวิต  คำถามเกิดขึ้นมาว่า "ตัวเรากำลังสู้ชีวิตอยู่รึเปล่า?  เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?  เราพยายามอย่างเต็มที่กับชีวิตนี้แล้วหรือยัง? "  มีเสียงคำตอบอันแผ่วเบาผุดขึ้นมาในความคิด "ยังไม่สุด"  คำตอบนี้อยู่กับผมตลอดเวลาที่ผมทำอาชีพนี้  ผมได้พูดคุยกับผู้โดยสารมากมาย  มีคำแนะนำจากความหวังดีที่ผมคงไม่สามารถนำมาเรียบเรียงรับใช้คุณผู้อ่านได้หมด  ผมได้เปิดโลกทัศน์ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับผู้โดยสารที่หลากหลายสาขาอาชีพ  ต่างมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน  เวลาผ่านเลยไป  ผมก็ยังหางานอื่นไม่ได้  จนผมมารู้ตัวอีกทีงานพนักงานบริการเข็นรถผู้ป่วยนี้เป็นอาชีพที่ผมทำมานานที่สุดที่เคยทำงานมา  ช่วงเวลากำลังจะเข้า 3 ปีครึ่งแล้วที่ผมทำมาหากินอยู่ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้  ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ  แต่แล้วเหตุที่ทำให้ผมต้องตัดสินใจกับชีวิตการทำงานก็เกิดขึ้น
                  อย่างที่ผมเคยเรียนให้คุณผู้อ่านทราบเมื่อช่วงที่ผมเข้ารับการอบรมปฐมนิเทศแล้วว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทภายนอกหรือที่เรามักคุ้นหูว่าเป็นบริษัทเอาท์ซอร์ส(Outsource)  ที่เข้ามาให้บริการงานเข็นรถผู้ป่วยภายในสนามบิน  ในการเข้ามาให้บริการก็ต้องชนะการประมูล  และมีสัญญาว่าสามารถให้บริการได้กี่ปี  บริษัทที่ผมทำอยู่กำลังจะครบสัญญา  พวกเราพนักงานเริ่มกังวลเกี่ยวกับอนาคต  คือเมื่อบริษัทครบสัญญาพนักงานก็ครบสัญญาด้วย  ไม่ว่าบริษัทใดจะชนะการประมูล  ก็จะมีการรับสมัครพนักงานและก็ไม่เสมอไปที่พนักงานที่เคยปฏิบัติงานนี้มาจะได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงานในหน้าที่นี้อีกครั้ง  ต้องยอมรับความน่าเศร้าบนเรื่องจริงของชีวิตของพนักงานเอาท์ซอร์ส  เวลาที่กระชั้นเข้ามา  ความไม่แน่นอนของการประมูล  คำตอบที่อยู่ในใจ    ผมว่าต้องตัดสินใจกับชีวิตการทำงานให้เด็ดขาดเสียที...

Post a Comment:

Designed By Blogger Templates | Templatelib & Distributed By Blogspot Templates