ฝันเก้าเดือน 2.3
นอกเหนือจากการเรียนในศูนย์ฝึกอาชีพแล้ว การออกหน่วยให้บริการตัดผมก็เป็นกิจกรรมหลัก ได้ช่วยเหลือสังคมและช่างก็ได้ฝึกฝนฝีมืออย่างสม่ำเสมอ การออกหน่วยนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ ตามสถานที่ คือ ชุมชน และ โรงเรียน
การออกหน่วยชุมชน หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า "ลงชุมชน" ลูกค้าที่มารับบริการ ก็จะเป็นคุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณแม่กับลูกน้อย เรียกว่าเป็นผู้คนที่อยู่ดูแลบ้านนั่นเอง (พวกเราออกหน่วยวันธรรมดา จันทร์ถึงศุกร์ ครับ)
ส่วนการออกหน่วยโรงเรียน ลูกค้าที่มารับบริการก็เด็กนักเรียน ทั้งหญิงและชาย สำหรับข้อแตกต่างของการออกหน่วยทั้งสองที่ก็คือรูปแบบทรงผม ลงชุมชนจะมีความหลากหลายกว่าทั้งทรงผมผู้หญิงและผู้ชาย แต่ลงโรงเรียนแบบทรงผมจะต้องตัดตามระเบียบ แต่ถ้าพูดถึงจำนวนลูกค้า ลงโรงเรียนลูกค้ามากกว่าลงชุมชน
และนี่ก็เป็นอีกวันที่ได้ลงโรงเรียน...
"เก่ง วันนี้เธอเป็นอะไรรึเปล่า?
ทำไมตัดออกมาไม่ดีเลยล่ะ
เธอเคยตัดได้ดีกว่านี้นี่" เสียงอาจารย์เล็ก
"ผมก็ไม่รู้ครับ" เสียงเด็กชายเก่ง
"คนที่เป็นช่างมืออาชีพนะ
ต่อให้เมื่อคืนเค้าเมา
เช้ามาเค้าก็ตัดได้ มีฝีมือเหมือนเดิม
เมื่อวานเธอกินเหล้ารึเปล่า?
หรือเครียด? หรือนอนน้อย?"
"ผมไม่ได้กินเหล้านะครับอาจารย์"
"ต้องมีอะไรสักอย่างแน่ๆ
งานถึงออกมาไม่ดีอย่างนี้" อาจารย์เล็กทิ้งท้าย
เด็กชายเก่งยอมรับว่างานก็ออกมาไม่ดีจริงๆ แต่สาเหตุมาจากอะไร อันนี้ยังไม่แน่ใจคงหลายอย่างรวมกันทั้งความเครียดและพักผ่อนน้อย สิ่งสำคัญคือบางครั้งตัวเราเองอาจไม่รู้ตัวว่าเราไม่เต็มร้อย ทำงานออกมา ตัวเองก็ยังมองไม่เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจน ต้องให้อาจารย์มาเตือนสติ พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ชวนให้นึกถึงความในหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเคยอ่านนานมาแล้ว เป็นหนังสือของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรชาวไทยระดับโลก เนื้อหาช่วงหนึ่งเกี่ยวกับการเลือกพี่เลี้ยงหรือครูอย่างระมัดระวัง เพราะพี่เลี้ยงหรือครูที่มีความสามารถอย่างแท้จริงจะช่วยให้ตัวเราก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน และพี่เลี้ยงหรือครูที่มีความสามารถอย่างแท้จริงนั้น ก็ย่อมมองเห็นจุดบกพร่องและให้คำแนะนำที่ดีแก่ศิษย์ได้
ช่วงพักเที่ยง
"อาจารย์ไม่ได้ล้อเธอเล่นนะเก่ง
วันนี้เธอตัดได้ไม่ดีจริงๆ
เนี่ย เพื่อนเราสิบคน
งานเธออยู่อันดับแปดเลยนะ อาจารย์ว่า"
"ไม่ใช่แล้วมั้งครับอาจารย์" เด็กชายเก่งยิ้มแหยๆ
Post a Comment: