ฝันเก้าเดือน 3.0
และแล้ว...ก็เข้าสู่ช่วงปลายของการฝึกอาชีพ วันเวลาแห่งความยากลำบากได้ผ่านพ้นไป เริ่มนับถอยหลังถึงเส้นชัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ว่ากันตามตรง ช่วงเวลาสองเดือน สำหรับคนที่ไม่เคยมีพื้นฐานในการตัดผมมาก่อน ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นยิ่งนัก ข้อสนับสนุนของประโยคก่อนหน้านี้ ได้ปรากฎอยู่บนคู่มือฝึกอบรมซึ่งเด็กชายเก่งกำลังเปิดอ่านทบทวน
บนหน้าปกได้เขียนเอาไว้ว่า
"หลักสูตรการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น วิชาตัดผมชาย"
อ่านไป ก็คิดวางแผนสำหรับก้าวต่อไปด้วย
ตัวเด็กชายเก่งเอง ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นมือใหม่เสียเลยทีเดียว เพราะได้เคยลองผิดลองถูก ตัดผมให้เพื่อนๆร่วมงานมาแล้วในช่วงที่ทำงานอยู่ไต้หวัน
การมาเรียนครั้งนี้ จึงถือเป็นการเรียนรู้วิธีการตัดผมที่เหมาะสม การจับปัตตาเลี่ยน การจับหวี และเทคนิคอื่นๆตามหลักสูตร ซึ่งได้รับความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการศึกษาด้วยตนเองผ่านคลิปวีดีโอ
"จบแล้ว เอาไงต่อดีนะ?"
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น กับช่วงเวลาสองเดือนอันแสนสั้น เพื่อนๆที่เรียนด้วยกันหลายคนจึงเลือกที่จะเรียนซ้ำอีกคอร์ส เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้มากยิ่งขึ้น สำหรับเด็กชายเก่งนั้น คิดว่าควรต้องออกมาผจญโลกกว้างได้แล้ว ไม่ใช่ว่ามีฝีมือเก่งกาจมาจากไหน แต่คิดแล้วว่าถ้าหากลงเรียนซ้ำอีกคอร์ส ก็จะต้องใช้เวลาอีกสองเดือน
รวมแล้วเรียนตัดผมสี่เดือน
เหลือเวลาอีกสามเดือนก็สิ้นปี
อีกสามเดือนก็จะครบเก้าเดือนที่วางแผนไว้
อีกสามเดือนก็จะครบ 'ฝันเก้าเดือน'...
"ทำไม พอครบเก้าเดือนแล้วนายจะกินยาตายรึไงฮะ?" เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมา เมื่อรู้ว่าเด็กชายเก่งปฏิเสธที่จะเรียนซ้ำอีกคอร์ส
"เปล่า...แต่นายก็รู้ว่าเรามีเวลาไม่มาก"
'เวลา' ที่เด็กชายเก่งพูดถึง คือเวลาที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง บนหนทางที่ขอเลือกเองในช่วงเวลาเก้าเดือนนี้ เด็กชายเก่งเป็นคนที่ทำงานมาตลอด ตั้งแต่ช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็ทำงานควบคู่ไปด้วย ช่วงเวลากว่าสามเดือนตั้งแต่กลับมาอยู่บ้าน แม้จะไปเรียนฝึกอาชีพ แต่ความรู้สึกว่างงาน ก็คอยกดดันจิตใจเสมอ อารมณ์คนเคยทำงานแล้วให้มาอยู่เฉยๆ อยู่ว่างๆนั่นแหละ สำหรับเรื่องการลงทุนก็ยังติดตามและหาความรู้เพิ่มเติมทุกวัน แต่ตอนนี้ยังคงขาดทุนอยู่
"พี่ว่า เราต้องลองไปอยู่ตามร้าน เพื่อเก็บเกี่ยววิชาความรู้ และเทคนิคต่างๆให้มากๆ ก่อนที่จะมาเปิดร้านของตัวเองนะ" พี่ช่างเสริมสวยมืออาชีพคนหนึ่งแนะนำ
เด็กชายเก่งมองหาร้านตามคำแนะนำ
หาไป หาไป ก็ยังไม่เจอเสียที
จนวันหนึ่ง ผ่านไปเห็นป้าย 'เซ้ง' ร้านเสริมสวย
ทำเลตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก
เลยโทรไปสอบถามราคา
พอได้ความก็ไปปรึกษาพี่ช่างเสริมสวยมืออาชีพ
กับพี่นักบัญชีอาชีพอีกคน
ซึ่งทั้งสองก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า
ราคาเซ้งแพงไป แถมค่าเช่ารายเดือนก็โหดอีก
คิดเฉลี่ยให้ดูเลยว่าเนี่ย
เรามีค่าเช่าแล้วเท่านี้ต่อวัน ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ
เท่ากับว่าเราต้องมีลูกค้าต่อวันกี่คน
ถึงจะมีรายรับพอกับค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ต้องเสียไป
อยากให้ใจเย็นๆ และลองคิดดูดีๆ
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว
กับชีวิตของเด็กชายเก่งที่ไม่เคยมีความรู้
มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำร้านมาก่อน
คำแนะนำจากผู้รู้ ถือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก
ขอขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้
ทำให้ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า
"เรื่องที่เราไม่รู้ จงถาม"
ในหนังสือแนวพัฒนาตัวเองหลายเล่มก็พูดถึง
ความสำคัญของ 'การถาม' ให้เรากล้าที่จะถาม
การถามนั้น ยังช่วยให้เราประหยัดเวลา
ที่จะออกไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
หลายคนไม่รู้ แต่ไม่กล้าถาม
แล้วไปคิดเองเออเอง ตัดสินใจเอง
ตัดสินใจถูกก็มี ตัดสินใจผิดก็มาก
พอถามผู้รู้ ได้คำแนะนำมาแล้ว
ก็ต้องคิดพิจารณาด้วยตัวเราเองอย่างถี่ถ้วน
จึงตัดสินใจลงไป
นอกจากผู้รู้ทั้งสองท่านแล้ว
เด็กชายเก่งยังนำเรื่องนี้ไปถามความเห็นจากเพื่อน
ที่เรียนด้วยกัน(เพื่อนคนเดียวกับที่คุยกันด้านบน)
"พอดีมีร้านแถวบ้านติดป้ายเซ้งร้าน
เราว่าจะลองโทรไปถามดูว่าราคาเท่าไหร่?"
"อ๋อ เก่งจะเซ้งใช่ป่ะ"
"อือ ถ้าพอไหวก็ว่าจะเซ้ง"
"เฮ้ย นี่เราได้ขนาดเปิดร้านเลยเหรอ
ลูกค้ามาแล้ว เราทำไม่ดี เขาก็ไม่ติดเรานะ
มันจะส่งผลระยะยาวหรือเปล่า"
และนี่คืออีกมุมมองที่เด็กชายเก่งได้รับเพิ่มขึ้น
เห็นประโยชน์ของ 'การถาม' กันแล้วนะครับ
Post a Comment: